ชุมชนบ้านพงษ์ทองคำ!!พึ่งพาตนเอง ผลิตเชื้อจุลินทรีย์ใช้คุมศัตรูพืช

การแก้ไขปัญหาความเสียหายจากการระบาดของศัตรูพืช เกษตรกรตำบลระหาน จัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านพงษ์ทองคำ โดยเริ่มตั้งแต่การเฝ้าระวังโดยการสำรวจ และติดตามสถานการณ์ การแจ้งเตือนภัย พร้อมทั้งแก้ปัญหาต้นทุนสูง

ตำบลระหาน มีพื้นที่การเกษตร จำนวน 28,593 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 21,900 ไร่ พืชไร่ 1,995 ไร่ ไม้ผล 3,681 ไร่  พืชผัก 453 ไร่ และอื่นๆ ในแต่ละปีมีศัตรูพืชระบาดในพืชเศรษฐกิจหลักของเกษตรกร เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าว หนอนห่อใบข้าว หนอนกอข้าว และโรคไหม้ ทำให้เกษตรกรต้องสูญเสียเงินในการจัดการศัตรูพืช ดังกล่าว ศัตรูพืชบางชนิดถึงแม้จะมีการระบาดลดลง แต่ยังพบว่ามีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ศัตรูพืชบางชนิดมีการระบาดเพิ่มขึ้นและรุนแรง

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการของเกษตรกร ที่จะส่งผลต่อปริมาณการระบาดและการทำลายที่รวดเร็ว ทำให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่บริเวณกว้าง ซึ่งการจัดการศัตรูพืชชุมชนให้มีประสิทธิภาพนั้น มีความจำเป็นต้องมีดำเนินการอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และทันสถานการณ์ โดยเริ่มตั้งแต่การเฝ้าระวังโดยการสำรวจ ติดตามสถานการณ์ การแจ้งเตือนภัย เพื่อยับยั้งไม่ให้ขยายพื้นที่เป็นวงกว้าง   เกษตรกรในพื้นที่ตำบลระหานจึงรวมกันจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.)บ้านพงษ์ทองคำ ขึ้น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจากสำนักงานเกษตรอำเภอบึงสามัคคีและสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร เป็นพี่เลี้ยง

นางสาวอุบล เข็มศร ประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน(ศจช. บ้านพงษ์ทองคำ) พร้อมด้วยสมาชิก  มีการสำรวจติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชในแปลงพยากรณ์ และแปลงเกษตรกร  สำรวจติดตามสถานการณ์ข้อมูลชนิดพืช ชนิดศัตรูพืช และชนิดศัตรูธรรมชาติ รวมถึงสภาพแวดล้อมอากาศ  เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาการระบาดของศัตรูพืชได้ทัน แจ้งเตือนให้กับเกษตรกรให้รู้ล่วงหน้า และหาแนวทางป้องกันได้ทันกับสถานการณ์ และต้องใช้สารชีวภัณฑ์ให้เหมาะสมกับศัตรูพืช เพื่อลดปัญหาในแปลงจากแมลง ลดต้นทุนการผลิต  จะมีการสำรวจอาทิตย์ละ 1 ครั้ง

โดยการจะมีอุปกรณ์จับแมลง สำรวจกอต้นข้าว แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าเจอสถานการณ์แบบไหน เจอแมลงศัตรูพืชตัวดี หรือตัวร้าย แต่ถ้าสถานการณ์ปกติให้ธรรมชาติควบคุมกันเอง ส่วนสารชีวภัณฑ์นำมาใช้ในกลุ่มเองและชุมชนรอบนอก เพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่ผลผลิตแรกๆอาจจะต่ำกว่าการใช้สารเคมี หากใช้กันต่อเนื่องผลผลิตจะดีขึ้น ส่งผลให้สุขภาพดีขึ้น

ด้านนางนิตยา เจนจบ เกษตรอำเภอบึงสามัคคี เปิดเผยว่า ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านพงษ์ทองคำ เกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ ประสบปัญหาด้านศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้ามาส่งเสริมเกษตรกรจัดตั้งรวมกลุ่มองค์ความรู้ด้านการผลิตสารชีวภัณฑ์  มีการให้ความรู้ด้านการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน เพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร

ปัจจุบันเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน และให้เกษตรนอกชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเข้ามาศึกษาดูงาน นำความรู้ไปต่อยอด และเป็นการลดใช้สารเคมี เพื่อให้เกษตรกรมีสุขภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังมีการปลูกผักปลอดสาร จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปได้ซื้อรับประทาน ในราคาที่ถูกและประหยัดอีกด้วย

, , , , , ,