ในขณะที่บ้าน “บอมเบย์เบอร์มา” ที่แพร่ถูกรื้อ.. เลยแอบมาดูบ้านห้างร.5″บ้านพะโป้” บ้านห้าง ร. 5 สถาปัตยกรรม ที่สวยงาม บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ บนความเก่าแก่กว่าร้อยปี ผู้คนกลับมาสนใจ หลังมีกระแสอนุรักษ์บ้านเก่า
ช่วงนี้มีกระแสการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่อายุเกิน 100 ปีในไทย เกิดขึ้นหลายพื้นที่ หลังจากที่มีปรับปรุงใหม่ หรือซ่อมแซมใหม่ แต่กลับกลายเป็นการทำลายให้สูญสิ้นลงหรือ ทำลายความสวยงาม ความเก่าแก่ลงไป แทนที่จะเป็นการอนุรักษ์ไว้ จังหวัดกำแพงเพชรเอง ยังคงมีอาคารอาคารเก่าแก่อายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไปจนถึงอาคารที่มีความเก่าแก่กว่า 100 ปีอยู่หลายหลัง
แต่หากพูดถึงความสวยงาม และเก่าแก่ ทั้งสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ จนมีผู้เข้าไปเยี่ยมชมบ่อยที่สุด ซึ่งแม้จะมีอายุนับร้อยกว่าปี มีความทรุดโทรมลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงเต็มไปด้วยความสวยงามและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นอดีตได้อย่างดี โดยทายาทรุ่นต่อๆมายังคงอนุรักษ์ไว้ไม่มีการรื้อถอนหรือปลูกสร้างสิ่งใดทดแทนลงไป
บ้านห้าง ร.5 หรือ บ้านพะโป้ ตั้งอยู่ที่ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ใกล้วัดสว่างอารมณ์ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง รูปแบบไทยผสมตะวันตก ประดับด้วยไม้ฉลุลายอย่างประณีต เป็นบ้านของ พะโป้ คหบดีชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีอาชีพค้าไม้ที่บริเวณปากคลองสวนหมาก เมืองนครชุม ในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้ซื้อบ้านมาจากพระยาราม
ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ. 2449 ได้เสด็จเยือนบ้านพะโป้ จนเป็นที่มาของชื่อ บ้านห้าง ร.5 ตามประวัติกล่าวว่า พระยาตะก่า พี่ชายพะโป้ ได้เข้ามาขอรับเช่าทำการค้าไม้ จากพระยากำแพงเพชร (อ่อง) ในราวปลายรัชกาลที่ 4 พ.ศ.2418 จนถึงแก่กรรม ต่อมาปี พ.ศ.2429 พะโป้ได้เริ่มทำการค้าไม้
โดยตั้งบ้านเรือน ที่บริเวณปากคลองสวนหมาก ซึ่งเป็นทำเลในการชักลาก ลำเลียงซุงไม้ จากป่าส่งลงไปยังเมืองนครสวรรค์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าไม้ ที่ใหญ่ที่สุด ของภาคเหนือตอนล่าง แม้จะมีสภาพทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา แต่อาคารหลังนี้ ยังคงความเก่าแก่ ความสวยงาม ร่องรอย เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา สัมผัสได้ถึงคุณค่าและเรื่องราวมากมายแม้จะผ่านเวลามากว่าร้อยปี
นายสวัสดิ์ พนมวาสน์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ตั้งของบ้านห้าง ร. 5 กล่าวว่า เห็นบ้านห้างหลังนี้มานาน มีความสำคัญในการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนและจังหวัด แต่กลับทรุดโทรมลงไปทุกวัน อยากให้มีการพัฒนาปรับปรุงให้คงทนถาวรมีสภาพที่ดีกว่านี้ เพราะรู้สึกหวงแหนและเสียดายหากต้องทรุดโทรมจนพังทลายลงไป
ทั้งนี้ ยังเป็นหนึ่งในเรื่องภาพยนตร์ เรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย เป็นนวนิยาย ของ “ครูมาลัย ชูพินิจ” นอกจากนั้นยังมีผลงานของครูมาลัยที่บันทึกเรื่องราวของนครชุม และคลองสวนหมาก ไว้อย่างละเอียดครบถ้วนในหนังสือ “ทุ่งมหาราช”