สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร จัดงานวันรณรงค์การผลิตและใช้แหนแดง โครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร พร้อมเตรียมขยายการเลี้ยงแหนแดงสู่แปลงใหญ่
ที่โรงเรียนอนุบาลบึงสามัคคี ต.ระหาน อ.บึงสามัคคี จ.กำแพงเพชร นางสาวสุพัตรา คล้ายทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัด กำแพงเพชร เป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์การผลิตและใช้แหนแดง โครงการขยายผลการผลิต และใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร โดยมีหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการอำเภอบึงสามัคคีผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น และเกษตรกรร่วมงานจำนวน 150 คน ร่วมกิจกรรม ชมการถ่ายทอดความรู้การลี้ยงแหนแดง
นายศักดิเดชน์ แก้ววิเศษ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันการผลิตภาคการเกษตรมีต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องต้นทุนที่สำคัญคือปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี ซึ่งประเทศไทย ได้นำเข้าปุ๋ยเคมี จากต่างประเทศปีละประมาณ 5.5 ล้านตัน คิดเป็นเงิน 70,103 ล้านบาท และปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ภาครัฐได้รณรงค์ให้เกษตรกร ลดการใช้ปัจจัยการผลิตเกินความจำเป็น เช่น การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกและปุ๋ยพืชสดทดแทนปุ๋ยเคมี จากการวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนาสายพันธุ์แหนแดงไมโครฟิลล่า
ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ มีใบขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ให้ผลผลิตสูง ผลจากการวิเคราะห์ทางเคมีพบว่า มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูงถึง 4.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าสายพันธุ์เดิมและมีไนโตรเจนสูงกว่าพืชตระกูลถั่วถึง 1.5 เท่า สามารถใช้ทดแทนปุ๋ยไนโตรเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแปลงสาธิต ในภูมิภาคต่างๆ พบว่าสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ10
กรมส่งเสริมการเกษตรได้อนุมัติให้จังหวัดกำแพงเพชร ดำเนินโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้เกษตรกรมีความเข้าใจ สามารถผลิตและใช้แหนแดง เพื่อลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนโดยใช้แหนแดงทดแทน เป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุและปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้น เพื่อใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับข้าว/ พืชไร่/ พืชผัก/ และไม้ผล และใช้เป็นแหล่งโปรตีน/ ลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์/ และประมง นอกจากนี้ การใช้แหนแดง ในกระบวนการผลิต ยังเป็นการช่วยดูแล ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดิน ตามนโยบาย BCG อีกด้วย นับว่าเป็นการลดต้นทุนการเพาะปลูกพืช เพราะเกษตรกรทำการเกษตร ต้องหวังผลกำไร เมื่อต้นทุนการผลิตสูง ก็มีความเสี่ยงต่อการขาดทุน โดยเฉพาะปีใดที่ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ เกษตรกรจะประสบภาวะขาดทุน และมีหนี้สินเพิ่มขึ้น
สำหรับการเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์แหนแดง บ่อซีเมนต์ ขนาด 80 เซนติเมตร ดินนา หรือ ดินเหนียว ปุ๋ยคอก 1 กิโลกรัม แม่พันธุ์แหนแดง 50 กรัม กระบวนการเพาะเลี้ยงไม่ยุ่งยาก ใส่ดินนา สูง 10 เซนติเมตร เติมปุ๋ยคอก 1 กิโลกรัม เติมน้ำ ให้สูงจากระดับดิน 10 เซนติเมตร ใส่แหนแดงลงในบ่อแม่พันธุ์ 50 กรัม หลัง 14 วัน แหนแดงจะเจริญเต็มบ่อ
นอกจากนี้ ยังมีแปลงต้นแบบและขยายผลแหนแดง โครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดง เพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร ปี 2566 ภายใต้งบประมาณสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โดย สำนักงานเกษตรอำเภอบึงสามัคคีร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจได้มาศึกษาดูวิธีการเพาะเลี้ยง และเตรียมพร้อมขยายการเพาะเลี้ยงแหนแดงแปลงใหญ่ ให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดกำแพงเพชร
ส่วนประโยชน์ของแหนแดง ใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวทดแทนปุ๋ยเคมีไนโตรเจน และนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ เช่น เป็น ไก่ และหนู และลดต้นทุนนำไปเป็นส่วนผสมของปุ๋ยหมักบำรุงพืชได้ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ การใช้แหนแดง ในกระบวนการผลิต ยังเป็นการช่วยดูแล ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดิน ตามนโยบาย BCG อีกด้วย
ในการจัดงานครั้งนี้ ประกอบด้วยสถานีเรียนรู้ 3 สถานี ได้แก่
สถานีที่ 1 เรื่อง การผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการเกษตร/ โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช/ จังหวัดพิษณุโลก
สถานีที่ 2 เรื่อง การใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว/ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอบึงสามัคคี
สถานีที่ 3 เรื่อง การทำปุ๋ยหมักคุณภาพสูงจากแหนแดงแห้ง/ โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร