คณะกรรมการลงพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร คัดเลือกเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำไร่ ระดับประเทศ
วันที่ 11 สิงหาคม 2566 คณะกรรมการคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำไร่ จากกรมส่งเสริมการเกษตร นำโดยนางสาวอรุณ แก้วขาว ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมพืชไร่อุตสาหกรรม พร้อมด้วยนางสุกัญญา ตู้แก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ และนางสาวรวีบงกช ชญาวรณรงค์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ลงพื้นที่ตรวจสอบผลงานของนายวชิราพงษ์ คุรุธรรมานนท์ เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำไร่ของจังหวัดกำแพงเพชรและเป็นตัวแทนของเขต 6 (17 จังหวัดภาคเหนือ) ในการคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำไร่ ระดับประเทศ ณ .ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศูนย์เครือข่าย ด้านอ้อยโรงงาน) บ้านบึงสำราญ ตำบลถาวรวัฒนา อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร
โดยมี นายเรืองพจน์ ธารานาถ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ นายศักดิเดชน์ แก้ววิเศษ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร นายมานพ นิ่มทับทิม นายอำเภอทรายทองวัฒนา เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร สำนักงานเกษตรอำเภอทรายทองวัฒนา ผู้นำชุมชน และเครือข่ายเกษตรกรเข้าร่วมให้ข้อมูล
นายศักดิเดชน์ แก้ววิเศษ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่ากรมส่งเสริมการเกษตรได้แต่งตั้งคณะทำงานคัดเลือกเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำไร่ ระดับประเทศ เพื่อสรรหาผู้ที่ชนะการคัดเลือกระดับประเทศ และเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติเกษตรกรที่มีผลงานดีเด่นให้เป็นที่ปรากฏแก่สาธารณชนทั่วไป โดยเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับเโล่รางวัลพระราชทานในงาน พระราชพิธีพืชมงคลพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปี2567 ซึ่ง นายวชิราพงษ์ คุรุธรรมานนท์ ตัวแทนของเขต 6 ประกอบอาชีพทำไร่อ้อย อยู่ที่อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร ทำไร่อ้อยโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยที่ผลิตเองทั้งหมดในพื้นที่ 260 ไร่
ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าเกษตรกรทั่วไปและมีผลผลิตที่สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศ ตัดอ้อยสดทั้งหมดโดยไม่มีการเผาเพื่อลดปัญหา PM 2.5 นอกจากนี้ยังคิคค้นนวัตกรรมต่างๆมาใช้ในไร่อ้อย เช่น เครื่องม้วนน้ำหยดแบบ 2 ม้วน เป็นอุปกรณ์ติดท้ายรถไถเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องแรงงานในการเก็บสายน้ำหยด การคิดค้นโซล่าโมบิลหรือโซล่าเซลล์แบบเคลื่อนที่ การนำโดรนมาให้ปุ๋ยทางใบ การคิดค้นทำลานจอดโดรนแบบเคลื่อนที่ การทำรอกสลิงสำหรับช่วยยกโดรน คิดค้นตู้ลดความร้อนของแบตเตอรีโดรน
นอกจากนี้ยังได้นำผลงานและนวัตกรรมตลอดจนเทคโนโลยี ที่ได้คิดค้นและที่นำมาใช้ได้จริงเผยแพร่ขยายผลให้กับเกษตรกรรายอื่นๆนำไปใช้และปฏิบัติ โดยได้เผยแพร่โดยการเป็นวิทยากร ผ่านสื่อมวลชนเช่นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร การจัดนิทรรศการในงานต่างๆเช่นงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี( Field day) งานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เป็นเกษตรกรต้นแบบ (Smart Farmer)ที่สมควรได้รับการยกย่องประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบและถือเป็นแบบอย่างที่ดียิ่ง