ตื่นเต้นขบวนหัวโตกลองยาว!!ซุ่มซ้อมงานแรก แห่งานกฐินวัดคฤหบดีสงฆ์

ชุมชนบ้านท่าพุทรา รื้อประเพณีเก่าแก่หายไปตั้งแต่เยาว์วัย นานกว่า 40 ปี ทำขบวนหัวโต หรือหัวโตกลองยาว เป็นการละเล่นพื้นบ้าน ฝึกซ้อมเตรียมแห่หน้าขบวนกฐิน

ชาวบ้านหมู่ที่ 3 ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกิจกรรมรื้อฟื้นประเพณีการละเล่นพื้นบ้าน ทำขบวนหัวโต หรือหัวโตกลองยาว ซุ่ม ฝึกซ้อมกลองยาวโดยเด็กนักเรียนในชุมชน ให้มีความชำนาญเตรียมแห่ขบวนกฐิน วัดคฤหบดีสงฆ์ หรือเป็นที่รู้จัก ในนามพระวิบูลวชิรธรรม หรือ หลวงพ่อสว่าง อุตตโร วัดท่าพุทรา พระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวเมืองกำแพงเพชร ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 นี้

สำหรับขบวนหัวโต หรือหัวโตกลองยาว โดยจะมีการนำกระดาษเก่า หรือหนังสือพิมพ์ที่ผ่านการใช้แล้วมาประกอบเป็นหัวโต แล้วตกแต่งทาสีให้มีความสดใสสวยงาม หลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป แต่ชุมชนท่าพุทรานี้ เลือกที่จะทำเป็นรูปแป๊ะยิ้ม เพราะมีแต่รอยยิ้มส่งความสุขให้กันและกัน เมื่อร่วมขบวนร่ายรำในงานรื่นเริงกับขบวนกลองยาว ฉิ่ง ฉาบ กรับ ฆ้อง ตีประกอบจังหวะสร้างความครื้นเครง หยอกเย้าผู้ชมสร้างความสนุกสนานมีสีสันยิ่งขึ้น

นายไพฑูรย์​ เดี่ยววาณิช อดีตผู้ใหญ่​บ้าน พร้อมกับนายรัชชานนท์​  สัตยะคำ ผู้ใหญ่บ้าน​หมู่ที่ 3 และชาวบ้าน ได้ร่วมกันปรึกษาจะนำศิลปะประเพณีของตำบลท่าพุทราที่เคยมีมาเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมานำกลับมาฟื้นฟูขึ้นมาใหม่  จึงได้ชูการนำหัวโตหรือหัวโตกลองยาวขึ้นมา ให้เด็กรุ่นหลังได้เห็นได้สืบสานอนุรักษ์ศิลปะกันต่อไป ส่วนทำมัยที่จะเลือกหัวโตแป๊ะยิ้ม  จะสังเกตได้ว่าหัวโตแต่ละหัว มีแต่รอยยิ้ม เวลาใครเห็นจะจะมีความสุขไปด้วย

สำหรับกลองยาวนั้น ได้พัฒนาขึ้นมาใหม่ เกิดจากแรงบันดาลใจของอาจารย์ชำนาญการ ที่เกษียณราชการแล้ว ได้มารวบรวมเด็กนักเรียนในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เด็กนักเรียนต้องหยุดการเรียนการสอน ต้องเรียนแบบออนไลน์แทน โดยใช้เวลาว่างหลังจากเลิกเรียน ชักชวนเด็กๆหันมาร่วมกิจกรรมอนุรักษ์การตีกลองยาว ซึ่งปีนี้ขบวนหัวโตและขบวนกลองยาวของเด็กๆ จะได้ร่วมแห่นำขบวนกฐินเป็นครั้งแรก สร้างความตื่นเต้นให้กับเด็กๆเหล่านี้เป็นอย่างมาก ที่จะได้สร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชม ที่มาร่วมทำบุญในวัดคฤหบดีสงฆ์

ทั้งนี้ การรื้อฟื้นทำขบวนหัวโตขึ้นมาใหม่ เสียงของคุณย่า คุณยาย ในละแวกนั้น ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำให้หวนคิดไปถึงเมื่อครั้งยังเยาว์วัย ที่ได้เห็นขบวนหัวโตในสมัยนั้น หนุ่มสาวออกมาร่ายรำ กันอย่างสนุกสนาน

, , , , ,