สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร กับงานส่งเสริมการเกษตรบนพื้นที่สูง ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ชาวไทยภูเขาบ้านป่าคา
โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านป่าคา จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ โดยมุ่งส่งเสริมอาชีพด้านการทำเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ให้กับราษฎร ชาวไทยภูเขาบ้านป่าคา ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน และบ้านโละโคะ ป่าหมาก ตำบลโกสัมพี อำเภอโกสัมพีนคร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการมีการดำเนินงานแบบบูรณา โดยมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรับผิดชอบหลัก และสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมบูรณาการกับทุกภาคส่วน ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของสถานีฯ
นายปรีชา บำรุงศรี เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายวีรยุทธ สมป่าสัก หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอคลองลาน/เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอโกสัมพีนคร เข้าไปสนับสนุนการปฏิบัติงานของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถบ้านป่าคา เพื่อส่งเสริมให้ความรู้ในการทำการเกษตรที่ถูกต้องและเหมาะสมด้านการปลูกพืชให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ลดการใช้สารเคมี ทำการเกษตรแบบยั่งยืนไม่ทำลายระบบนิเวศน์
นายวีรยุทธ สมป่าสัก หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช กล่าวว่า จากการศึกษาสภาพและปัญหาการเกษตรในพื้นที่ ปัญหาที่พบในพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ขาดการปรับปรุงบำรุงดิน เกษตรกรยังขาดความรู้เรื่องการจัดการศัตรูพืช/ โรคพืช ขาดความรู้ที่ถูกต้องในการใช้ปุ๋ยและการจัดการธาตุอาหารในดิน ส่วนพืชที่สำคัญที่มีปัญหาในการผลิตและการดูแลรักษา ได้แก่
- อะโวกาโด เป็นพืชที่ปลูกใหม่ในพื้นที่ เกษตรกรยังขาดความรู้ในการปลูก/ดูแลรักษา/การเก็บเกี่ยว
- มะระหวาน(ซาโยเต้) พบปัญหาการระบาดของใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ
- กาแฟ พบหนอนเจาะลำต้นกาแฟ และมอดกาแฟ
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พบการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด
- พืชผักและไม้ผลอื่นๆ พืชผักมีการใช้สารเคมีสูง และขาดความรู้เรื่องการดูแลรักษาในไม้ผล
จากปัญหาที่พบ สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและสนับสนุนการปฏิบัติของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงบ้านป่าคา ได้แก่
- จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มเติมความรู้ โดยมีกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าหน้าที่ของสถานีเกษตรที่สูงป่าคาได้ไปศึกษาดูงานการขยายพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษาและจัดการฯ อะโวกาโด้ และการปลูกมะระหวาน(ซาโยเต้) จากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) อำเภอพบพระ จังหวัดตาก และทางเกษตรที่สูงจังหวัดตาก ได้มาจัดอบรมถ่ายทอดความรู้เรื่องการปลูกอะโวกาโด และการขยายพันธุ์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา
2.จัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกมะระหวาน(ซาโยเต้)ปลอดโรค เพื่อเป็นแปลงเรียนรู้และแปลงผลิตหัวพันธุ์ในสถานีฯ โดยขอรับการสนับสนุนหัวพันธุ์มะระหวาน(ซาโยเต้)ปลอดโรคจากฝ่ายวิจัยและพัฒนามูลนิธิโครงการหลวง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
- ร่วมกับศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดกำแพงเพชรจัดอบรมถ่ายทอดความรู้เรื่องการจัดการการเพาะปลูกพืชตามสภาพพื้นที่ ถ่ายทอดความรู้เรื่องการจัดการดิน-ธาตุอาหารพืช(ปุ๋ย) การป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด โดยมีการสาธิตและการฝึกปฏิบัติการทำกับดักผีเสื้อกลางคืนของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด และการขยายเชื้อบีทีสำหรับฉีดพ่นกำจัดหนอน ให้แก่เกษตรกรบ้านโละโคะและบ้านป่าหมาก ตำบลโกสัมพี อำเภอโกสัมพีนคร
- จัดฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรเรื่องการปรับปรุงดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน เพื่อลดการใช้สารเคมีในการปลูกพืชให้แก่เกษตรกรในพื้นที่บ้านป่าคา ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน
- ปัญหามอดกาแฟ ขณะนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชรอยู่ระหว่างการประสานงานขอรับการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการป้องกันกำจัดมอดกาแฟ ซึ่งเป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของกาแฟ จาก ผศ.ดร.เยาวลักษณ์ จันทร์บาง หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคาดว่าจะสามารถนำความรู้มาถ่ายทอดต่อให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ในฤดูกาลเก็บเมล็ดกาแฟช่วงปลายปี 2564 นี้
นอกจากนี้ กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอคลองลานและสำนักงานเกษตรอำเภอโกสัมพีนคร ได้วางแผนเพื่อเข้าไปปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านป่าคา ทุกเดือนๆละ 1 ครั้ง เพื่อเยี่ยมเยียนเกษตรกรและแก้ไขปัญหาการเกษตรที่พบ ตลอดจนศึกษาข้อมูลในพื้นที่เพื่อนำมาวางแผนในการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ต่อไป