ภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำที่ดักหนู ดักปลาไหล เป็นรายได้เสริม หลังพักการทำการเกษตร รอเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังขาย แม้นว่าความเจริญทางเทคโนโลยีมากขึ้น สิ่งของที่มาทำแทน หาได้สะดวก ยังเลือกวัสดุทำจากไม้ไผ่
นายอำนวย ชาวโพธิ์ทอง อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 71/1 หมู่ที่ 13 ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ยังคงสานต่อภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ได้รับการสืบทอดจากพ่อสู่รุ่นลูก ทำเครื่องมือดักสัตว์ เรียกว่า “ฟ้าผ่า” หรือที่เข้าใจแบบชาวบ้าน คือ ที่ดักหนูนั่นเอง ประดิษฐ์จากไม้ไผ่เป็นวัสดุหาได้ง่ายในท้องถิ่น
เมื่อทำเสร็จแล้วส่วนหนึ่ง จะเก็บไว้เป็นเครื่องมือดักสัตว์ นำมาประกอบเป็นอาหาร และขายในราคาอันละ 20 บาท เป็นรายได้เสริม หลังรอการเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลังขาย นอกจากนั้นยังทำเครื่องมือที่ดักปลาไหล หรือ “ลัน” ไว้อีกด้วย
นายอำนวย ชาวโพธิ์ทอง เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันหาคนทำเครื่องมือดักสัตว์ ใช้วัสดุธรรมชาติลดน้อยลง เนื่องจากมีความเจริญทางเทคโนโลยีมากขึ้น สิ่งของที่มาทำแทน อย่างเช่น พลาสติก โลหะ เหล็ก เข้ามาแทนที่ จนทำให้เครื่องใช้ทำจากวัสดุไม้เริ่มหายไป แต่ยังคงอนุรักษ์วิธีการทำไว้อย่างเหนียวแน่น
เมื่อสมัยก่อนเครื่องมือดักสัตว์ “ฟ้าผ่า” เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่อาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากทำการเกษตรเป็นหลัก แล้วยังหาจับสัตว์มาเป็นอาหาร โดย “ฟ้าผ่า”เป็นเครื่องมือดักหนูที่ไม่ต้องใช้เหยื่อล่อ เพียงแต่นำไปดักตามทางเดินของหนูเท่านั้น เมื่อหนูเดินผ่านจะติดกับดักทันที