คณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร จัดการสัมมนาเรื่อง “การมีส่วนร่วมของประขาชนและประโยชน์ที่ประชาชน จะได้รับจากการจัดทำแผนพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในระดับพื้นที่”
ที่อาคารอเนกประสงค์แก่งเกาะใหญ่ หมู่ที่ 21 ตำบลปางมะค่า อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร นายสุรสิทธิ์ วงศ์วิทยานันท์ รองประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง คนที่ 3 สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนและปะโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการจัดทำแผนพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในระดับพื้นที่” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการปกครอง ร่วมด้วย ว่าที่พันตรีปรีดา ศรีเมฆ ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการ นายศทัต หทัยวรรธณ์ นายอำเภอขาณุวรลักษบุรี นายน้อย วงศ์วิทยานันท์ นายกเทศมนตรีเมืองปางมะค่า นายวิชัย พรกระแส ท้องถิ่นจังหวัดกำแพงเพชร นายไฉน อำไพริน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแห นายประภัสร์ อ่อนฤทธิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันน้ำนิเทศ และผู้มีเกียรติ ประชาชนร่วมงานในครั้งนี้อย่างคับคั่ง
“น้ำ” เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของโลก รวมถึงเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ในระบบเศรษฐกิจและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องอาศัยน้ำในการดำรงชีวิต ถึงแม้น้ำจะมีจำนวนมากถึง 3 ใน 4 ส่วนของพื้นที่โลก แต่การเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้มีความต้องการใช้น้ำมากขึ้น ประกอบกับมีการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ เกิดปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง ดินโคลนถล่ม และการฟังทลายของดิน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของชุมชนเมืองและการขยายตัวของอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพน้ำและการขาดแคลนน้ำอุปโภค
การจัดสัมมนาในวันนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ได้รับความร่วมมือจากทุกท่าน ในที่นี้ซึ่งมาจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญของแผนพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในระดับพื้นที่ทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งประชาชนควรได้รับทราบถึงรายละเอียดที่สำคัญในประเด็นต่าง ๆ ต่อไป
ในส่วนของภาคบ่าย ที่องค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแห อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร นายสุรสิทธิ์ วงศ์วิทยานันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกำแพงเพชร นำคณะหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 5 (วนพ.15) สถาบันวิทยาการพลังงาน ศึกษาดูงานธนาคารน้ำใต้ดิน โดยนายไฉน อำไพริน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแห ผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลมากมายจากการเป็นนักบริหารจัดการที่ดีเกี่ยวกับน้ำใต้ดิน บรรยายระบบธนาคารน้ำใต้ดิน และสภาพปัญหาการบริหารจัดการน้ำในอดีต
ในอดีตที่ผ่านมาระบบนิเวศมีความสมดุล ส่งผลให้ทำการเกษตรได้ผลดี ต่อมาเมื่อเกิดการขยายตัวของชุมชนทำให้มีการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติกันอย่างฟุ่มเฟือย มีการแผ้วถางป่า เพื่อต้องการพื้นที่ทำการเกษตร มีการพัฒนาวิธีการนำน้ำใต้ดินมาใช้ทำการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ไม่ใครเรียนรู้ที่จะเติมน้ำลงสู่ใต้ดิน ทำให้ระดับน้ำใต้ดินลดลงไปเรื่อยๆ ระบบนิเวศขาดความสมดุล เกิดปัญหาภัยแล้งในฤดูแล้ง หน้าดินขาดความชุ่มชื้น และน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน หน้าดินถูกทำลาย
นอกจากนี้ ภูมิศาสตร์ของพื้นที่ของตำบลวังหามแห เป็นที่ราบสลับเนิน เมื่อฝนตกกระแสน้ำจะไหลด้วยความรวดเร็ว ทำให้หน้าดินพังทลายและเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ราบ ทำให้พืชในพื้นที่ทางการเกษตรและชุมชนได้รับความเสียหาย แต่ในฤดูแล้งกลับไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร หรือใช้อุปโภคบริโภค แม้องค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแหจะพยายามแก้ไขปัญหา โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำแหล่งกักเก็บน้ำบนผิวดินเพิ่มขึ้น ทั้งการขุดลอกคลอง การทำแก้มลิง ขุดสระเก็บน้ำเพื่อการเกษตร และก่อสร้างฝายน้ำล้น เพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของชุมชนได้ ส่งผลให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ประชาชนไม่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ
ด้วยความมุ่งมั่น ที่ต้องการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน จึงได้จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพบุคลากรท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 3 – 7 เมษายน 2560 ด้วยการดำเนินการฝึกอบรมภาคบรรยายให้กับคณะผู้บริหาร ฝ่ายสภาท้องถิ่น พนักงานส่วนตำบล พนักงานจ้าง โดยได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ “หลักการธนาคารน้ำใต้ดิน” จาก ดร.เร่งรัด สุทธิสน ผู้อำนวยการสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ และนำคณะผู้บริหาร ฝ่ายสภาท้องถิ่น พนักงานส่วนตำบล พนักงานจ้าง ศึกษาดูงานเรื่อง “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเก่าขาม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ให้เข้าศึกษาดูงานและถ่ายทอดความรู้โดยละเอียด
ปัจจุบัน ยังมีการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินเพิ่มในพื้นที่ตำบลวังหามแหอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ครอบคลุมถึงทุกพื้นที่ในตำบลวังหามแห นอกจากนี้ยังมีการต่อยอด และพัฒนาศาสตร์ของธนาคารน้ำใต้ดินอยู่เสมอ ทำให้ธนาคารน้ำใต้ดินในปัจจุบัน มีหลากหลายรูปแบบ สามารถประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายที่ลดลง ทำให้ภาคเอกชน และภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญของหลักการธนาคารน้ำใต้ดิน ปัจจุบันจึงมีการผลักดันนโยบายเกี่ยวกับการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมในประเทศไทย