ธกส.กำแพงเพชร!!พักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย

ธกส.กำแพงเพชร เปิดคิกออฟ มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ให้กับเกษตรกรตำบลคณฑี

ที่อาคารเอนกประสงค์สหกรณ์คณฑีพัฒนา จำกัด ตำบลคณฑี อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร นายโชคชัย รักเกื้อ นายอำเภอเมืองกำแพงเพชร พร้อมด้วย นายนภพล  กันยะมูล  รองผู้อำนวยการ ธ.ก.ส. ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง นายสิมา ราชาวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธกส.จังหวัดกำแพงเพชร เจ้าหน้าที่ ธกส.กำแพงเพชร ผู้นำท้องถิ่น และเกษตรกร  เปิดกิจกรรม “มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล”

สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท  วันที่ 30 ก.ย.2566 มีลูกค้า ธ.ก.ส. ทั้งประเทศที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการกว่า 2 ล้านราย ยอดหนี้ทั้งหมดกว่า 277,000 ล้านบาท  ในส่วน  ธ.ก.ส. ฝ่ายกิจการภาคเหนือตอนล่าง  รวมทั้ง 9 จังหวัด  ประกอบด้วย  จังหวัดพิษณุโลก  นครสวรรค์  อุตรดิตถ์  ตาก  พิจิตร  เพชรบูรณ์  สุโขทัย  อุทัยธานี  และจังหวัดกำแพงเพชร  มีลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการ  จำนวน  272,694  ราย  ยอดหนี้รวมทั้งหมด  37,560.61  ล้านบาท  (กำแพงเพชร 35,283 ราย ยอดหนี้ 5,110.94  ล้านบาท) ซึ่งระยะโครงการในการพักชำระหนี้อยู่ที่  3 ปี

โดย ธ.ก.ส. เปิดให้บริการตรวจสอบสิทธิ์ และแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 – 31 ม.ค.2567 ปัจจุบัน (วันที่ 19 ตุลาคม  2566)  มีผู้ที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการ  ได้ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมมาตรการทั้งประเทศไปแล้ว จำนวนกว่า 510,000 ราย คิดเป็นร้อยละ  24.37   และ  ที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการในพื้นที่การดำเนินงานของ  ธ.ก.ส. ฝ่ายกิจการภาคเหนือตอนล่าง  ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมมาตรการแล้ว จำนวนกว่า 56,580 ราย คิดเป็นร้อยละ  20.75  คาดว่าจะมีผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการมากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการ

ทั้งนี้  หลังจากผู้ได้รับสิทธิ์ได้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการแล้ว ธ.ก.ส. จะนัดหมายเพื่อประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้  รวมถึงการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นในระหว่างการพักชำระหนี้ และป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ

สำหรับผู้เข้าร่วมมาตรการที่ประสงค์ชำระดอกเบี้ยค้างเดิมที่เกิดขึ้นก่อนเข้าร่วมมาตรการ ถ้าเป็นหนี้ปกติ ธ.ก.ส. จะเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยในอัตราส่วน 50:50 ของเงินที่นำมาชำระในแต่ละคราว และกรณีเป็นหนี้ค้างชำระ (NPL) ธนาคารจะจัดสรรชำระเงินต้นให้ทั้งจำนวนที่ลูกค้าส่งชำระในแต่ละคราว รวมทั้งสามารถเข้าร่วมมาตรการจูงใจตามโครงการชำระดีมีโชคของ ธ.ก.ส. ได้อีกด้วย การฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น