วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงหมู่บ้านห้วยน้อย ชนะเลิศอันดับหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร ต่อยอดจากการเลี้ยงปลาดุก นำมาแปรรูปเป็นน้ำพริกปลาดุกสองแดด ปลาดุกตากแห้ง และผลิตภัณฑ์อื่นๆสร้างรายได้ให้กับสมาชิก มีรายได้ต่อเดือนอย่างมั่นคง
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงหมู่บ้านห้วยน้อย เลขที่ 22/1 หมู่ที่ 4 ตำบลมหาชัย อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร ไม่รอช้ากำลังขะมักเขม้นกับการแปรรูปน้ำพริกปลาดุกสองแดด บรรจุภัณฑ์ส่งขายตามยอดสั่ง ซึ่งสมาชิกในกลุ่มแบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่กระบวนการเตรียมเครื่องวัตถุดิบ หั่นปลา ทอด บด จนมาสู่กระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ เน้นความสะอาด ใส่ใจรสชาติความอร่อย เก็บไว้ได้นานถึง 3 เดือน ไม่ใส่สารกันบูด น้ำพริกถือว่าเป็นเครื่องชูรส จัดไว้ในสำรับกับข้าว โดยน้ำพริกกระปุกสำเร็จรูป เป็นทางเลือกหนึ่งที่ง่ายสะดวกในการรับประทาน ทางกลุ่มเริ่มผลิตมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคด้วยดี จำหน่ายหมดแล้วเริ่มผลิตใหม่ สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นทุกเดือนอย่างเป็นที่น่าพอใจ กระบวนการผลิตน้ำพริกปลาดุกสองแดด นอกจากรสชาติที่อร่อยแล้ว ทางกลุ่มคำนึงถึงความสะอาดและความปลอดภัยเป็นหลัก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่มาอุดหนุน จึงคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำพริกปลาดุกสองแดดให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงหมู่บ้านห้วยน้อย ทำการเพาะเลี้ยงปลาดุกอยู่แล้ว มีรายได้จากการขายปลาดุกให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อหน้าบ่อ โดยระยะ 3 เดือนจะจับขายมีรายได้สู่ภาคครัวเรือน เพื่อสร้างมูลค่าจากฐานทรัพยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้ต่อยอดให้มีรายได้เพิ่มยิ่งขึ้น มีการนำปลาดุกมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น นำปลามาชำแหละและตากแห้ง เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา มีการนำปลาดุกไปแปรรูปเป็นกุนเชียงปลาดุก และปลาดุกร้า น้ำพริกปลาดุกสองแดด เป็นต้น นายวิเชียร เชียงทอง ประธานกรรมการ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงหมู่บ้านห้วยน้อย เปิดเผยว่า ทำการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2540 เดิมเกษตรกร ตำบลมหาชัย ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่เนื่องจากทำนาแล้วขาดทุน เกิดหนี้สินเป็น จำนวนมากทางกลุ่มจึงได้มีความคิดริเริ่ม เปลี่ยนมาเริ่มเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด(ปลาดุกรัสเซีย) โดยใช้อาหารสำเร็จรูปที่มีจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาดนำมาเพาะเลี้ยงปลา แต่เนื่องด้วยมีต้นทุนการผลิตที่สูงมาก จึงมีการทดลองใช้เศษไก่ และโครงไก่จากโรงงานชำแหละมาเป็นอาหารปลา พบว่าสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ดีมาก แต่ถ้าจะซื้อให้ได้ในราคาที่ถูกจะต้องซื้อทีละมากๆ ทำให้เกษตรกรขาดแคลนเงินทุนในการซื้อ เกษตรกรหมู่บ้านห้วยน้อย จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา เพื่อรวมตัวกันซื้อเศษไก่จากโรงชำแหละมาเพาะเลี้ยงปลา
ด้านนายศักดิเดชน์ แก้ววิเศษ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชรกล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงหมู่บ้านห้วยน้อย เริ่มทำการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ต่อมาได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาในปี พ.ศ. 2547 เพื่อรวมตัวกันซื้อเศษไก่จากโรงชำแหละ มาเพาะเลี้ยงปลา สมาชิกเมื่อเริ่มก่อตั้งกลุ่มมีจำนวน 8 ราย ปัจจุบันกลุ่มฯมีสมาชิก 27 ราย มีบ่อเลี้ยงปลาของสมาชิกเมื่อรวมกันแล้วมีอยู่ ประมาณ 220 บ่อ เนื้อที่รวมประมาณ 320 ไร่ ซึ่งแต่ละบ่อมีขนาดตั้งแต่ 1 งาน ไปจนถึง 1 ไร่ โดยขอเงินสนับสนุน จาก ธ.ก.ส. วงเงิน 8,000,000 บาท และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ปัจจุบันนอกจากเลี้ยงปลาดุกจำหน่ายเป็นปลาสดแล้วยังมีการนำปลาดุกมาแปรรูป เช่นปลาดุกตากแห้ง(ปลาสองแดด) กุนเชียงปลา และปลาดุกร้า ซึ่งขณะนี้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงหมู่บ้านห้วยน้อย ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานในลักษณะรูปแบบของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอไทรงาม สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชรและหน่วยงานภาคี ร่วมขับเคลื่อน
นายศักดิเดชน์ แก้ววิเศษ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ยังกล่าวชื่นชม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงหมู่บ้านห้วยน้อย เป็นเครือข่ายของ ศพก. อำเภอไทรงาม ซึ่งสมาชิกได้รวมตัวกันประกอบอาชีพเลี้ยงปลาดุกรัสเซีย จากการนำของผู้นำที่มีความเข้มแข็งคือ คุณวิเชียร เชียงทอง ประธานกรรมการ สามารถที่จะรวบรวมสมาชิกเพื่อร่วมกันเลี้ยงปลาดุกรัสเซีย จำหน่ายผลผลิตสดประมาณ 90% ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 10% มีการแปรรูปเพื่อจำหน่ายอีกทาง นับว่าเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง ที่พี่น้องเกษตรกรมารวมตัวกัน หลังจากเดิมก่อนหน้านี้ ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก ซึ่งเป็นอาชีพเชิงเดี่ยว แต่พอช่วงหลังมาราคาปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย สารเคมีต่างๆมีราคาเพิ่มขึ้น ทำให้มักประสบปัญหาขาดทุน เลยมาจดเป็นวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลาดุกรัสเซีย จากองค์ความรู้เดิมของประธานที่มีความรู้อยู่แล้ว
จนสามารถทำได้ทุกวันนี้มีเกษตรกรได้มีรายได้ แต่ละเดือนประมาณ 15,000-20,000 บาท ซึ่งสามารถทำให้ทุกคนมีรายได้ที่ยั่งยืนมากขึ้น และสามารถปลดเรื่องหนี้สินที่เคยมีมาก่อน ทำให้เกษตรกรได้อยู่กับครอบครัวไม่ต้องไปทำงานที่อื่น นับว่าเป็นกลุ่มผู้มีความเข้มแข็งกลุ่มหนึ่ง จากผลการประกวดวิสาหกิจชุมชนของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชรในปี 2566 ปรากฏว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงหมู่บ้านห้วยน้อย ได้รับเลือกให้เป็นวิสาหกิจชุมชนชนะเลิศอันดับหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนฯ เป็นแผนงานที่บูรณาการจากสมาชิกและชุมชน ในการรับซื้อปลาดุกรัสเซียจากสมาชิกและชุมชน วิสาหกิจชุมชนฯ จะเป็นผู้รวบรวม และจำหน่ายออกสู่ตลาด เพื่อผลิตในสิ่งที่ตลาดต้องการ อีกทั้งยังสามารถนำน้ำในบ่อที่เลี้ยงปลาไปใช้เป็นปุ๋ย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเกษตร เช่น ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง ได้อีกช่องทางหนึ่ง รวบรวมปลาจากสมาชิก เพื่อจำหน่ายออกสู่ตลาด
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงหมู่บ้านห้วยน้อย มีความตระหนักถึงเทคโนโลยีที่มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านภาคการผลิต การตลาด การสื่อสาร และการขนส่ง ทางวิสาหกิจชุมชนฯ จึงนิ่งนอนใจพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับการอบรม หรือนำเครื่องจักรที่มีคุณภาพสูงมาใช้งาน เพื่อที่จะใช้แปรรูปของเหลือจากโรงชำแหละเป็นอาหารปลาดุก สามารถลดต้นทุนการผลิตให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตทางกลุ่มมีแผนจะสร้างห้องเย็นรวมทั้งนำเครื่องอัดเม็ด โดยจะอัดอาหารให้เป็นเม็ดเพื่อความสะดวกในการนำไปใช้เพาะเลี้ยงปลา โดยจะเน้นในเรื่องของความประหยัด และความคุ้มค่าในการลงทุน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 096-290-8565