เกษตรกำแพงเพชร แจ้งเตือนโรคเน่า หัวเน่า มันสำปะหลัง จะมาพร้อมฤดูฝน
นายปรีชา บำรุงศรี เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร มอบหมายให้ นายวีรยุทธ สมป่าสัก หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช และเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ลงพื้นที่สำรวจอาการโรคเน่า หัวเน่า ในแปลงมันสำปะหลังของเกษตรกร หมู่ที่ 2 บ้านสักขีย์ และหมู่ที่ 10 บ้านสักขีย์พัฒนา ตำบลหนองไม้กอง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร
เนื่องจากได้รับแจ้งจากเกษตรกรว่า มันสำปะหลังมีอาการใบเหลือง ต้นเหลืองมีอาการเหี่ยวเฉาและรากเน่าและมีกลุ่มเส้นใยของเชื้อรา โดยมีนายบุญช่วย เข็มคง เกษตรอำเภอไทรงาม และ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอไทรงาม ลงพื้นที่ร่วมดำเนินการ ในเบื้องต้นพบว่าแปลงปลูกมันสำปะหลังมีสภาพเป็นพื้นที่ลุ่ม การจัดการแปลงปลูกไม่เหมาะสมทำให้มีมีน้ำขังในแปลงบางส่วน ส่งผลให้มันสำปะหลังมีลักษณะเป็นโรครากเน่าโคนเน่า ประกอบกับสภาพดินมีความเป็นกรด มี ค่า pH ประมาณ 5.0 หรือต่ำกว่า 5.0
เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้เกษตรกรเน้นการจัดการแปลงปลูกให้ระบายน้ำไม่ให้ท่วมขัง และใช้สารปรับปรุงบำรุงดิน เช่น ปูนขาวหรือโดโลไมด์ลดความเป็นกรด/เพิ่มธาตุอาหาร และใช้เชื้อราไตรโครเดอร์มาหรือสารเคมีฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม ฉีดพ่นเพื่อลดอาการของโรครากเน่าโคนเน่า สำหรับโรครากเน่าหัวเน่าในมันสำปะหลังมักจะเกิดขึ้นใช่วงฤดูฝน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง ที่มักพบในแหล่งที่มีการระบายน้ำได้ไม่ดี น้ำแช่ขังนานหรือสภาพดินดานและฝนตกชุกเกินไป
โรครากและหัวเน่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมาก ทำให้ผลผลิตสูญเสียโดยตรง โรคนี้สามารถเกิดได้ทั้งระยะต้นกล้า และระยะที่ลงหัวแล้ว โรครากและ หัวเน่าเกิดจากเชื้อราสาเหตุหลายชนิด พบว่า สาเหตุของโรครากเน่ามีเชื้อรา 36 ชนิด บักเตรี 4 ชนิด และ Phytomonas 1 ชนิด ทำให้ยากแก่การวินิจฉัย สำหรับเชื้อราสาเหตุที่สำคัญ คือ เชื้อราในสกุล Fusarium spp.,Diplodia spp. และPhytophthora spp. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื้อสาเหตุ Phytophtora drechsleri เชื้อโรคนี้จะเกิดกับมันสำปะหลังทั้งในระยะกล้าและลงหัว แล้วมักจะพบในบริเวณที่ดินมีระบบระบายน้ำยาก และอยู่ใกล้กับทางน้ำหรือคลอง โรคนี้อาจสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
ลักษณะอาการ ถ้าเกิดกับต้นยังเล็กอยู่จะทำให้รากเป็นรอยช้ำสีน้ำตาลและเน่า ต้นจะเหี่ยวเฉา ถ้าเกิดกับหัวจะทำให้หัวเน่าอย่างรวดเร็ว และมีกลิ่นเหม็น ใบเหี่ยวแล้วร่วง ถ้าเกิดรุนแรงต้นจะตาย
การป้องกันกำจัด
1.การเตรียมแปลงปลูก ควรไถระเบิดดินดานให้มีการระบายน้ำที่ดี
2.การไถตากดินเป็นเวลานานๆ จะช่วยลดประชากรของเชื้อราในดินได้
3.กำจัดเศษซากมันสำปะหลังเก่าๆ จากแปลงเพาะปลูกให้หมด
4.คัดเลือกท่อนพันธุ์สมบูรณ์และปราศจากโรค หรือปลูกพันธุ์ทนทานต่อโรค ได้แก่ พันธุ์ระยอง 72
5.ในพื้นที่ที่มีโรคระบาดรุนแรง ปลูกพืชหมุนเวียนอย่างน้อย 6 – 12 เดือน
6.ใช้ไตรโครเดอร์มาแช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูก หรือฉีดพ่น หรือโรยบริเวณโคนต้น
7.ใช้สารเคมีฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม ในอัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร นาน 10 นาที หรือ ใช้ในอัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นต้นอายุ 3 เดือน ที่มีอาการใบเหลืองทุก 1 เดือน ติดต่อกัน 4 ครั้งจะสามารถลดจำนวนต้นเป็นโรคได้ 75%
ที่สำคัญการปลูกมันสำปะหลังควรคัดเลือกท่อนพันธ์ที่สมบูรณ์และปราศจากโรคแมลง มาเป็นพันธุ์สำหรับปลูก และในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคและแมลงที่รุนแรงควรหันไปปลูกพืชหมุนเวียนอย่างน้อย 6 – 12 เดือน ก็จะเป็นการป้องกันได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร
055-711060