จังหวัดกำแพงเพชร จัดกิจกรรมทำบุญทอดผ้าป่าแถว ในงานประเพณี “สารทไทย-กล้วยไข่ และของดีเมืองกำแพง” หนึ่งเดียวในโลก
ที่อาคารโดมโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ต.ในเมือง อ.เมือง นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร นำคณะผู้บริหารพร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และประชาชนร่วมกิจกรรมทำบุญทอดผ้าป่าแถว ในงานประเพณี “สารทไทย-กล้วยไข่ และของดีเมืองกำแพง” ประจำปี พ.ศ.2567 จำนวน 120 กอง
โดยมีนางสาวสุพัตรา คล้ายทิม, นายอนุชา พัสถาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร นายกองเอกชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ ปลัดจังหวัดกำแพงเพชร, พันเอก แจ่มใส รอง ผอ.รมน.จังหวัดกำแพงเพชร, หัวหน้าส่วนราชการ และพุทธศาสนิกชน เข้าร่วมในกิจกรรมจำนวนมาก มีพระครูวชิรปัญญากร รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าอาวาสวัดบ่อสามแสน เป็นประธานสงฆ์
ภายในพิธี ประธานในพิธี จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้น เจ้าหน้าที่ อาราธนาศิล ประธานสงฆ์ให้ศิล และเจ้าหน้าที่กล่าวถวายผ้าป่า ก่อนที่พระครูวชิรปัญญากร (ประธานสงฆ์) จะกล่าวสัมโมทนียกคาถา จากนั้นพระสงฆ์ทั้ง 102 รูปร่วมกันอนุโมทนา ประธานในพิธี กรวดน้ำ รับพร พระสงฆ์ทั้ง 102 รูป พร้อมกันพิจารณาผ้าป่า เป็นอันเสร็จพิธี
สำหรับพิธีทอดผ้าป่าแถวถือเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นเอกลักษณ์แห่งเดียวในโลก เนื่องจากประเพณีการนุ่งห่มของพระสงฆ์ กล่าวคือ สมัยพุทธกาล พระสงฆ์ทั้งหลายต้องเก็บเศษผ้าที่ชาวบ้านทิ้งแล้ว เพราะเปรอะเปื้อนด้วยของไม่สะอาด เป็นต้น จากที่ต่าง ๆ เอามาซัก ตัด เย็บย้อม ทำผ้านุ่งห่มดูเป็นเรื่องที่ลำบากพอสมควร
ชาวบ้านบางท่านประสงค์จะถวายผ้าแต่พระสงฆ์ก็รับไม่ได้ เพราะพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้รับเพราะเกรงว่าจะเป็นการรบกวนชาวบ้าน และฟุ่มเฟือยเกินไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวบ้านจึงคิดหาวิธีที่จะให้พระสงฆ์มีผ้านุ่งห่มอย่างเพียงพอ โดยการนำผ้าไปทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ พระสงฆ์ไปพบเข้าพิจารณาดูแล้วไม่มีเจ้าของหวงแหน จึงนำมาทำเป็นผ้านุ่งห่ม
จากเรื่องเล่าในสมัยพุทธกาลนั้น จึงเป็นมูลเหตุของการทอดผ้าป่าแถว โดยมีจุดประสงค์รวม ๆ คือ การอุปถัมภ์พระสงฆ์ให้มีผ้านุ่งห่มนั่นเอง ต่อมาพระพุทธองค์ ทรงเห็นความจำเป็นและความลำบากของพระสงฆ์ในเรื่องผ้านุ่งห่ม จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าจากผู้มีจิตศรัทธาได้
ฉะนั้น การทอดผ้าป่า จึงเป็นแต่สมัยพุทธกาลประเทศไทยเราก็คงรับประเพณีนี้มาพร้อม ๆ กับการยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา แต่คงเป็นกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่ไม่เด่นชัดนัก จนมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ประเพณีการทอดผ้าป่าจึงได้รับการรื้อฟื้นขึ้นใหม่จนเป็นที่นิยมปฏิบัติของ ชาวพุทธไทยเราตราบเท่าทุกวันนี้