ข้าวเม่า ขนมไทยโบราณ!!ชิมแล้ว ชวนย้อนนึกความหลัง

วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรบ้านคลองเจริญ ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านอาหารพื้นบ้านไว้อย่างเหนียวแน่น นำข้าวเหนียวที่มีรวงไม่แก่จัดมาตำ แปรรูปให้เป็นขนมหวานโบราณ ที่ในปัจจุบันนี้หารับประทานได้ยากมากแล้ว

ที่โรงสีชุมชน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรบ้านคลองเจริญ ทั้งชายและหญิง หมู่ที่ 4 ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านอาหารพื้นบ้าน “การทำข้าวเม่า” ไว้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งเป็นอาหารหวานอย่างหนึ่งของชาวไทยที่ประกอบอาชีพทำนา ปัจจุบันกลุ่มเกษตรบ้านคลองเจริญ สืบทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมภาคอีสาน ทำการเกษตรปลูกข้าวในรูปแบบข้าวแปลงใหญ่ และแบ่งพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวไว้รับประทานเอง ลดรายจ่ายในครัวเรือนอีกด้วย

การทำข้าวเม่า เริ่มจากการลงไปในแปลงนา ใช้เคียวเกี่ยวต้นข้าวเหนียว มีรวงไม่แก่จัดจนเกินไป จากนั้นใช้ด้านปลายช้อนขุดเมล็ดข้าวให้หลุดออกจากรวง จึงนำไปคั่วในกระทะที่ตั้งไฟให้ร้อน เพิ่มความหอมด้วยการใส่ใบเตยลงไปคั่วด้วย เมื่อได้ที่แล้วนำไปตำในครกไม้ ให้เปลือกกะเทาะออกเมล็ด บอกได้เลยว่าขั้นตอนนี้ต้องออกแรงจนได้เหงื่อเลยทีเดียว ภายหลังจากการตำแล้ว เป็นการแยกเมล็ดข้าวและเปลือกออกจากกัน

โดยตักข้าวที่ตำแล้วในครกออกมาใส่กระด้ง เพื่อฝัดเปลือกข้าวออกไป แล้วนำไปตำ ฝัดเปลือกออก ทำซ้ำกันจนในกระด้งจะเหลือแต่เมล็ดข้าว ซึ่งสังเกตเห็นได้ว่าเมล็ดข้าวจะมีสีขาวและสีเขียว เกิดจากสีธรรมชาตินั้นเอง ข้าวเม่าทำเสร็จใหม่ จะอ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม นำไปคลุกเคล้าด้วยน้ำเกลือ น้ำตาลทราย และมะพร้าว รับประทานแทนขนมหวานได้เลย

นางพรมมา แก่นทองเจริญ ตัวแทนกลุ่มเกษตรบ้านคลองเจริญ เปิดเผยว่า การทำข้าวเม่า ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา และยังคงถ่ายทอดให้กับลูกหลานรุ่นหลังต่อไป ได้เรียนรู้การตำข้าวเม่า เป็นอาหารพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางจิตใจ นำความสนุกสนานรื่นเริง มาสู่ความรักความสามัคคีของคนในชุมชน ในอดีตเป็นกิจกรรมหนึ่ง ที่หนุ่มสาว ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกัน จนลงเอยด้วยความรัก แล้วยังทำให้ได้กินของอร่อยด้วย

นางพรมมา แก่นทองเจริญ เล่าอีกว่า ในสมัยก่อนไม่มีขนมหวานเหมือนปัจจุบัน พ่อแม่ จึงตำข้าวเม่าให้ลูกได้กิน เมื่อไปโรงเรียนพกติดตัวไปกินด้วย รสชาติและกลิ่น หอม หวาน มัน อร่อย สีสันเป็นธรรมชาติ นอกจากทำไว้กินเองแล้ว ยังนำไปทำบุญใส่บาตร ในช่วงงานประเพณีวันสารทอีกด้วย

, , , , ,